E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตอน พระอัจฉริยภาพด้านนักประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา


พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงได้พระราชทานให้กับประชาชนชาวไทยมากว่า 70 ปี นั้น มากมายมหาศาล เกินกว่าที่จะสามารถนำมาเอ่ยอ้างให้หมดได้ง่ายๆ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ และทรงกอปรด้วยพระอัจฉริยะภาพในด้านต่างๆ ที่ทรงนำเอามาใช้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแด่พสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน... และหนึ่งในพระอัจฉริยะภาพ ที่ปรากฏอย่างโดดเด่น เป็นประจักษ์แก่ผู้คนไม่เพียงพวกเราชาวไทย แต่ยังระบือไกลไปถึงต่างประเทศ ก็คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ ภายใน สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และถือเป็นครั้งแรกของโลก !

กังหันน้ำชัยพัฒนา เริ่มต้นเกิดขึ้นจาก การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะทรงช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียและมลพิษทางน้ำ ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งปัญหาเรื่องมลพิษทางน้ำและน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่มีการทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นได้ทรงมีพระราชดำริ ริเริ่มออกแบบเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการเติมอากาศลงสู่น้ำเพื่อบำบัดน้ำเสีย นั่นจึงเป็นที่มาของ กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของโลกที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์

หลักการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นไปตามหลักการบำบัดน้ำเสียด้วยการเพิ่มปริมาณออกซิเจนลงไปในน้ำ เพื่อให้จุลินทรีย์สามารถช่วยบำบัดน้ำเสียได้ดีขึ้น โดยการทำให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศให้มากขึ้น เพื่อรับออกซิเจนเติมลงไปในน้ำ เกิดเป็นแนวคิดสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นทุ่นลอย ซึ่งพระองค์ท่านทรงได้แนวรูปลักษณ์ของสิ่งประดิษฐ์นี้มาจาก อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาที่เป็นภูมิปัญญาดังเดิมของชาวบ้าน นำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศชุดนี้

กังหันน้ำชัยพัฒนาที่มาจากพระราชดำริ ได้รับการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนาในพระราชดำริ ซึ่งได้นำไปทดลองใช้งานในพื้นที่ต่างๆ และมีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น การทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา จะหมุนด้วยความเร็วประมาณ 1450 รอบ/นาที ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 2 แรงม้า ซองตักน้ำที่มีรูพรุนช่วยให่น้ำสัมผัสกับอากาศ หมุนด้วยความเร็ว 5 รอบ/นาที สามารถเติมออกซิเจนลงไปในน้ำได้ประมาณ 0.9 ถึง 1.2 กิโลกรัม/แรงม้า-ชั่วโมง และยังมีการปรับปรุงให้สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในพื้นที่ๆ ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงได้สะดวกอีกด้วย

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้สิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 ซึ่งรัฐบาลก็ได้เสนอให้วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปีเป็นวัน นักประดิษฐ์ไทย ด้วย เพื่อรำลึกในพระอัจฉริยะภาพและพระราชาดำริอันทรงคุณของพระองค์ และนอกจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว กังหันน้ำชัยพัฒนา ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor ภายในงาน Brussels Eureka 2000 ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อีกด้วย

นี่นับเป็นอีกหนึ่งพระราชอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงได้พระราชทานให้กับประชาชนชาวไทย

#กังหันน้ำชัยพัฒนา #พระราชอัจฉริยะภาพ
Share
2524