E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่ ตอนที่ 2

มาต่อกันเป็นตอนที่ 2 สำหรับกรณีผู้รับเหมาทิ้งงาน แล้วมีวัสดุตกค้างอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง แล้วเกิดคำถามขึ้นว่า เจ้าของบ้าน หรือ ผู้ว่าจ้าง จะสามารถเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้งานต่อได้หรือไม่ ซึ่งครั้งก่อนได้นำเสนอไปแล้ว 1 วิธี ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ไม่เข้าข่ายการกระทำอันผิดกฎหมาย เพราะหากว่าจู่ๆ จะเอาของมาใช้นั้น เสี่ยงต่อความผิด ซึ่งตามกฎหมายเจ้าของหรือผู้ว่าจ้างทำได้เพียงยึดเอาไว้ชั่วคราว หากต้องการนำมาใช้ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน

 คำถาม :

ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่


ความเห็นนักกฎหมาย :

“หลายครั้งที่ในการตกลงว่าจ้างก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน เป็นการตกลงโดยให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในค่าแรง  ค่าวัสดุอุปกรณ์และผู้รับเหมาก็ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วบางส่วน  ได้สั่งของ สัมภาระที่จะใช้ในการก่อสร้างตลอดจนได้นำอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ในการทำงานมาไว้ที่สถานที่ก่อสร้างแล้ว  ต่อมาภายหลังปรากฏว่า ผู้รับเหมาไม่มาทำงานต่อ หรือทิ้งงานไป  ผลที่ตามมาก็คืองานที่ว่าจ้างต้องหยุดชะงัก ไม่แล้วเสร็จ  เช่นนี้ ปัญหาย่อมตกอยู่กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านที่ต้องคิดหนักว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป  หากจะจ้างผู้รับเหมาคนใหม่ เราจะสามารถนำสัมภาระหรืออุปกรณ์ผู้รับเหมาคนก่อนทิ้งไว้มาใช้งานได้ไหม  ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายจึงมีคำแนะนำในเรื่องนี้ดังนี้"

วิธีที่หนึ่ง (คลิกอ่านรายละเอียด วิธีที่หนึ่ง)

วิธีที่สอง  ที่เจ้าของบ้านจะทำได้ คือ  เมื่อผู้รับเหมาทิ้งงานและทิ้งสัมภาระเอาไว้ และเจ้าของบ้านไม่ต้องการสัมภาระของเขา และไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับผู้รับเหมาคนเดิมให้เป็นปัญหาอีก  เนื่องจากเจ้าของบ้านได้ว่าจ้างผู้รับเหมาคนใหม่มาทำงานแล้ว  เจ้าของบ้านสามารถบอกเลิกสัญญาไปยังผู้รับเหมาที่ทิ้งงานและแจ้งให้เขามาขนเอาสัมภาระและอุปกรณ์ที่ทิ้งไว้  และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากงานล่าช้าเพราะการผิดสัญญาของเขา หรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขาในกรณีอื่น  ซึ่งหากเขาไม่จ่าย เราก็สามารถใช้สิทธิยึดหน่วงเอาไว้ได้  ซึ่งหากมีการฟ้องคดี เจ้าของบ้านอาจใช้สิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินดังกล่าวได้ (ควรเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก เช่น รถแบคโฮ ,ตู้เชื่อม ,เครื่องจักรต่างๆที่มีราคา เพราะหากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาน้อย การยึดหน่วงทรัพย์สินไว้จะกลับกลายเป็นภาระของเจ้าของบ้านเสียเองที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินนั้น)"

กล่าวโดยสรุปก็คือ วิธีที่สองนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเมื่อตัวเจ้าของบ้าน หรือ ผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องการใช้งานวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ตกค้างอยู่ในสถานที่ก่อสร้างเลย ก็แนะนำให้บอกเลิกสัญญาและแจ้งให้ผู้รับเหมาเดิมมาทำการขนย้ายสิ่งของออกไปและเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจาก ผู้รับเหมา ซึ่งสามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ สำหรับสิ่งที่ตกค้างอยู่ ให้ดำเนินการเพียงหน่วงเอาไว้เพื่อบังคับให้เขามาดำเนินการต่อไปให้ถูกต้องซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดี และยังสามารถฟ้องบังคับคดีเพื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นได้อีกด้วย แต่นอกจากสองวิธีนี้ ยังมีอีกหนึ่งวิธี ซึ่งเป็น "วิธีที่สาม" ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถยึดและครอบครองสิ่งเหล่านั้นได้ เราจะนำเอามาแนะนำให้ทราบอีกครั้งในคราวต่อไป...

#ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาทิ้งงาน #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #วัสดุก่อสร้าง #วัสดุ #กฎหมาย #กฎหมายก่อสร้าง
Share
4066