E-Fix ช่างด่วน
5 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย เมื่อมีของเสียในห้องเช่า เจ้าของหรือคนเช่าที่ต้องซ่อม

มุมกฎหมายกลับมาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เราอาจจะดูเหมือนว่าพาออกไปนอกเรื่องเกี่ยวกับ งานช่าง สักเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีโอกาสที่จะมีความเกี่ยวพันกับงานช่าง อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และมีผลกระทบเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นช่าง หรือ คนหาช่าง ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นประเด็นเกี่ยวกับการที่เราไปเช่าอาศัยอยู่ในสถานที่ของคนอื่น เมื่อเกิดกรณีมีข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องมีการชำรุดเสียหาย มักจะมีปัญหาข้องใจระหว่างกันและกันเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ว่า  "เมื่อมีของเสียในห้องเช่า เจ้าของหรือคนเช่าที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทำการซ่อมแซม" ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดการซ่อมแซมที่เกินความสามารถของผู้เช่าหรือเจ้าของ หรือ ช่างประจำของสถานที่นั้นๆ ก็แน่นอนว่าต้อง หาช่าง จากภายนอกเข้าไปทำการแก้ไข และในประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ คนเช่า ก็น่าจะอยากทราบว่าใครต้องรับผิดชอบ และช่างก็น่าจะอยากทราบว่า ควรจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมจากใคร... ประเด็นนี้ houzzMate จึงได้นำเอาเรื่องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อขอคำแนะนำเอามาเผยแพร่ให้ได้ทราบกัน



คำถาม : เมื่อมีของเสียหายในห้องพักที่เช่า ใครเป็นผู้ซ่อม


ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย :

ปัญหานี้คงเป็นคำถามในใจของชาวหอ และเจ้าของหอพักอยู่ไม่น้อย เนื่องจากตามปกติของการใช้งาน สภาพสิ่งของอาจต้องชำรุด เสื่อมสภาพ ไปเป็นธรรมดา ซึ่งสาเหตุของการเสื่อมสภาพ ชำรุดบกพร่องดังกล่าว อาจเป็นเพราะอายุการใช้การงานของวัสดุนั้นเอง หรือเนื่องมาจากการใช้งานที่ไม่เป็นไปตามปกติของผู้ใช้งาน และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องซ่อมแซม หลายครั้งก็เป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกันระหว่างเจ้าของหอพักและผู้เช่าห้องพักว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบซ่อมแซมดังกล่าว ในเบื้องต้น ก็ต้องพิจารณาตามสัญญาระหว่างเจ้าของห้องพักและผู้เช่าห้องพักว่าตกลงกันไว้อย่างไร แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 550 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ให้เช่าย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่า และผู้ให้เช่าต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างบรรดาซึ่งเป็นการจำเป็นขึ้น เว้นแต่การซ่อมแซมชนิดซึ่งมีกฎหมายหรือจารีตประเพณีว่าผู้เช่าจะพึงต้องทำเอง” และ มาตรา 547 บัญญัติไว้ว่า “ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย”

เช่นนี้โดยความหมายของบทบัญญัติ สองมาตราดังกล่าว อธิบายให้เข้าใจง่ายว่า ตามกฎหมายแล้ว ในเรื่องสัญญาเช่าห้องพัก เมื่อมีปัญหาว่า ฝ่ายใดจะมีหน้าที่ซ่อมแซม ความชำรุดเสียหายของทรัพย์สินต่างๆที่เช่า จะแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ กรณีการซ่อมแซมอย่างเล็กน้อย และกรณีการซ่อมแซมอย่างใหญ่

กรณีการซ่อมแซมอย่างใหญ่ เช่นการเปลี่ยนฝ้าเพดาน แอร์เสีย หลังคารั่ว ฯลฯ เช่นนี้ตามกฎหมาย ถือเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า ในการมีหน้าที่จัดการ ทั้งนี้ ความเสียหายดังกล่าวต้องเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่เพราะ ความผิดของผู้เช่าเสียเอง เช่น ผู้เช่าใช้สอยทรัพย์สินโดยไม่ทะนุถนอมรักษา ตามที่วิญญูชนทั่วไปควรจะประพฤติกันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้น เช่นนี้ ผู้เช่าก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดในผลนั้น

กับกรณีการซ่อมแซมอย่างเล็กน้อย เช่นหลอดไฟขาด น็อตหลุด ฯลฯ เช่นนี้ โดยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547 และมาตรา 550 ดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือเป็นหน้าที่ของผู้เช่าที่ต้องดูแลซ่อมแซม

ในหลายครั้งที่ในสัญญาเช่า มักมีข้อตกลงกำหนดผลักภาระ ให้เป็นหน้าที่ของผู้เช่าในการแก้ไขซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายก็ย่อมเป็นอิสระของคู่สัญญาที่จะทำความตกลงยินยอมเช่นนั้นได้ เมื่อผุ้เช่าและผู้ให้เช่าได้ตกลงดังนั้นแล้ว ก็ต้องเคารพข้อตกลงและปฏิบัติตามสัญญา

ปัญหาที่พบบ่อย มักมิได้อยู่ที่คู่สัญญา มิได้ตกลงกันไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะในความเป็นจริง เมื่อมีการเช่า ผู้ให้เช่า มักจัดเตรียมสัญญาไว้พร้อมให้ผู้เช่าลงลายมือชื่ออยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ผู้เช่ามักไม่ค่อยอ่านและทำความเข้าใจกับรายละเอียดในสัญญาเช่า แต่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาโดยทันที เช่นนี้ หากต่อมาภายหลังเกิดปัญหาขึ้น ผู้เช่าอาจไม่สามารถต่อสู้ผู้ให้เช่าได้

อย่างไรก็ตาม สัญญาเช่าห้องพัก เป็นสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจถูกควบคุม ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 ดังนั้น โดยผลของประกาศฉบับนี้ก็จะมีรายละเอียดที่กำหนดเพื่อคุ้มครองผู้เช่าได้ในครั้งหนึ่ง ซึ่งหากท่านใดสนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว


จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของและผู้เช่า หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นช่าง (ในกรณีมีการ หาช่าง มาทำงานซ่อมแซม) ที่จะได้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซมและค่าใช้จ่าย และหากท่านใดมีคำถาม สามารถกรอกข้อความไว้ด้านท้ายของบทความนี้ได้ ทางเราจะนำไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนำมานำเสนอให้ท่านได้ทราบต่อไป

#มุมกฎหมาย #ของเสียในห้องเช่า #สัญญาเช่า #หาช่าง #ซ่อมแซม
Share
43379